โรคภัยไข้เจ็บ ตอนที่ 21 – การผลักดันให้เลิกสูบบุหรี่ (2)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 21 มิถุนายน 2566
- Tweet
- การให้ยา (Medication) ทุกประเภท มีโอกาสเสี่ยง (Potential risk) ยา 2 ตัวนี้ก็เช่นกัน Varenicline อาจเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้ (Nausea), ปวดศีรษะ, การนอนไม่หลับ (Insomnia), และฝันที่ผิดปรกติ (Abnormal dream) ส่วน Bupropion ก็มีรายงานผลข้างเคียง (Side effect) ส่วนมากในเรื่องการนอนไม่หลับ, คลื่นไส้, อาเจียน, และวิงเวียนศีรษะ (Dizziness) ความรุนแรง (Severity) ของผลกระทบในทั้ง 2 กรณี ไม่มีนัยสำคัญ เพราะไม่มีความแตกต่างในอัตราการหยุดยา เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (Placebo) หรือนิโคตีน (Nicotine) มีรายงานว่า ยาทั้ง 2 ตัวนี้มีสหสัมพันธ์กับสิ่งรบกวน (Disturbance) ทางอารมณ์และพฤติกรรม และกับการฆ่าตัวตาย (Suicide) ไม่นานหลังจากการเริ่มให้ยา แม้ว่าสิ่งรบกวนดังกล่าวก็พบในผู้ป่วยที่พยายามเลิกสูบบุหรี่ทันที
- การวางแผนล่วงหน้า, บันทึกประสบการณ์ความกระหาย (Craving), ระบุและขจัดสิ่งกระตุ้น เช่น แอลกอฮอล์และความเครียด (Stress), และพึ่งพาคนใกล้ชิด การได้รับการสนับสนุน (Support) เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แม้จะได้รับยาข้างต้น และทางเลือกอื่นๆ การเลิกสูบบุหรี่มิใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายดาย จงบอกครอบครัวและเพื่อนๆ ถึงแผนการเลิกสูบบุหรี่ และความจำเป็นที่พึ่งพาเขาเหล่านั้น การค้นหาทางเลือกเพื่อรับมือกับความกระหาย เช่น การออกกำลังกาย (Exercise), การเคี้ยวหมากฝรั่ง, และการแปรงฟัน เทคโนโลยีทันสมัย อาจช่วยการวางแผนได้ เช่น การเชื่อมโยงทางสื่อสังคม (Social media) นอกจากนี้ ยังมีการขอคำแนะนำฟรีจากผู้เชี่ยวชาญทั้งทางโทรศัพท์และออนไลน์ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และถ้าต้องการ ก็สามารถพบที่ปรึกษา (Counselor) ตัวเป็นๆ ได้
- สิ่งจำเป็น (Imperative) ที่พ่อแม่ต้องเริ่มคุย (Dialog) กับลูกที่เป็นวัยรุ่นแต่เนิ่นๆ ให้ระมัดระวังโฆษณาที่พยายาม “อ่อยเหยื่อ” (Prey) วัยรุ่น ผ่านการสร้างเสน่ห์ (Glamor) ของการสูบบุหรี่ โดยตอกย้ำความเสี่ยงต่อสุขภาพ; ต่อต้าน (Rebel) แรงกดดันจากเพื่อนฝูง (Peer pressure) ซึ่งวัยรุ่นมักประสบ และสอนสั่งว่าจะตอบโต้อย่างไร โดยปราศจากความกลัว (Scared) หรือกังวล (Nervous); เน้นย้ำเรื่องพลังจิต (Will-power) และความเชื่อมั่นในตนเอง (Self-confidence); พิจารณาโอกาสเสพติด (Addictive potential) และความจริงที่ว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะสูบต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ (Adulthood); และเตือนให้คำนึงถึงต้นทุนเป็นตัวเงินต่อปีและจำนวนปีไปในอนาคต
- พ่อแม่ต้องสร้างตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก โดยไม่เป็นผู้สูบบุหรี่เสียงเอง เพราะการสูบบุหรี่เป็นภัยที่น่ากลัว (Terrible) สำหรับร่างกายมนุษย์ จึงต้องพยายามป้องกันมิให้เกิด (Initiation) นิสัยที่ชั่วร้ายนี้ แต่ถ้าพ่อแม่เป็นผู้เสพติดไปแล้ว ก็ต้องพยายามเลิก แม้หนทางการเลิกสูบบุหรี่ อาจยากเย็นแสนเข็น แต่ก็เป็นไปได้ผ่านแรงจูงใจ (Motivation) ที่หนักแน่น โดยคุณประโยชน์ที่จะได้รับ จะคุ้มค่าความพยายาม อันที่จริง มีหลากหลาย (Multiple) วิธีที่จะช่วยให้พ่อแม่ที่เสพติดไปแล้ว ผ่านกระบวนการละเลิก เพียงต้องมีจิตใจมั่นคงและวางแผนเตรียมตัวเลิกอย่างจริงจัง ต้องเข้าใจว่า การสูบบุหรี่เป็นความโง่เขลา (Foolish) เพราะเป็นยาพิษ (Poison) ที่บ่อนทำลายสุขภาพ อันที่จริง ไม่มีปริมาณขั้นต่ำของการสูบบุหรี่ที่ปลอดภัย แม้เพียงการสูบต่ำกว่าวันละ 1 มวน ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงอย่างมาก (Substantial) ของการเป็นโรคมะเร็งปอดและการตายได้
แหล่งข้อมูล